ขณะนี้ได้มีข่าวเกี่ยวกับสาร SLS ( Sodium Lauryl Sulfate) ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้ต่างประเทศได้ยกเลิกการใช้สารประเภทนี้ไปแล้ว แต่ในประเทศไทยยังมีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง โดยเฉพาะสบู่เหลว ซึ่งใช้กันทุกเพศทุกวัย อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่ได้นิ่งนอนใจได้ทำการสืบค้นและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสารที่ใช้ในเครื่องสำอางมาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณี ความปลอดภัยของสาร SLS ( Sodium Lauryl Sulfate) ในเครื่องสำอาง
สารโซเดียม ลอริล ซัลเฟต หรือที่นิยมเรียกในชื่อย่อว่า เอสแอลเอส (Sodium Lauryl Sulfate : SLS) เป็นสารที่มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิวของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ช่วยให้สิ่งสกปรก คราบไขมันหลุดออกไปได้ง่ายขึ้น จึงเรียกง่ายๆ ว่าเป็นสารทำความสะอาด นิยมใช้ทั้งในวงการอุตสาหกรรมและเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น เครื่องสำอาง น้ำยาล้างจาน (โดยใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้) เครื่องสำอางที่นิยมผสมสารนี้ ได้แก่ เครื่องสำอางที่ใช้แล้วล้างออกด้วยน้ำ เช่น สบู่เหลว แชมพู ตลอดจนยาสีฟัน
และจากการศึกษาวิจัยทั้งในสัตว์ทดลองและในคน พบว่าอันตรายของสารนี้ คือ ระคายเคือง ต่อดวงตา และผิวหนัง โดยความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารนี้ในผลิตภัณฑ์ และระยะเวลาที่ผลิตภัณฑ์สัมผัสร่างกาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนสรุปว่าสาร SLS มีความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดมะเร็งในคน ซึ่งข้อมูลความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดมะเร็งจากสารกลุ่มนี้ อาจมาจากสิ่งปนเปื้อนที่เป็นสารก่อมะเร็ง คือ 1,4 Dioxane แต่ปัจจุบันในกระบวนการผลิตสารทำความสะอาด สามารถกำจัดสิ่งปนเปื้อนนี้ได้ด้วยการใช้ระบบสูญญากาศ (ซึ่งไม่เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก) อีกทั้งได้มีการศึกษาพบว่า โอกาสที่จะพบ 1,4 Dioxane ในเครื่องสำอางสำเร็จรูปมีน้อย จึงไม่ควรกังวลว่าสาร SLS ในเครื่องสำอางจะก่อให้เกิดมะเร็ง
ทั้งนี้เครื่องสำอางที่ผสมสาร SLS อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้บ้าง เช่น แชมพูเข้าตาทำให้แสบตา หรือฟอกสบู่เหลวนานเกินไป อาจระคายเคืองผิว ทำให้ผิวแห้งได้ ขณะนี้ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศไทย มิได้ห้ามใช้สารนี้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง แต่หากผู้บริโภคต้องการหลีกเลี่ยงสาร SLS ในเครื่องสำอาง สามารถเลือกใช้เครื่องสำอางที่ฉลากระบุว่า “ Sodium Lauryl Sulfate Free” ได้
ขณะนี้มีสารทำความสะอาดอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กัน คือ Sodium Laureth sulfate (SLES) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า SLS และยังไม่มีข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการเป็นสารก่อมะเร็ง
ดังนั้น ผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนกกับเรื่องนี้จนเกินไป หากพบข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสาร หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ โดยเฉพาะข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงบวก หรือเชิงลบ จำเป็นต้องตรวจสอบแหล่งที่มา ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ตลอดจนข้อเท็จจริงต่างๆ ให้กระจ่างชัด ก่อนที่จะดำเนินการหรือตัดสินใจใดๆ