ปัจจุบันมีการใช้เครื่องสำอางผสม Alpha - Hydroxy Acids หรือ เอ เอช เอ (AHAs) เช่น กรดกลัยคอลิค (glycolic acid) กรดแลคติค (lactic acid) และ Beta – Hydroxy Acids หรือ บี เอช เอ (BHAs) เช่น กรดซาลิซิลิค (salicylic acids) อย่างแพร่หลาย ในขณะที่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ เอ เอช เอ ได้แก่ อาการระคายเคืองเล็กน้อย แสบผิว ผิวหนังร้อนแดง มีตุ่มพอง และไหม้
AHAs [Alpha-Hydroxy Acids] และ BHAs [Beta-Hydroxy Acids] เป็นสารที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง แต่เนื่องจากสารทั้งสองกลุ่มนี้มิได้เป็นสารห้ามใช้ หรือสารควบคุมพิเศษ หรือสารควบคุม ดังนั้นเครื่องสำอางที่ผสมสารเหล่านี้และไม่มีส่วนผสมของสารควบคุมพิเศษหรือสารควบคุม จัดเป็นเครื่องสำอางทั่วไป มีวางจำหน่ายทั่วไปทั้งที่ผลิตในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ
AHAs เป็นกรดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ บางครั้งเรียก กรดผลไม้ (fruit acid) เนื่องจากที่มาของกรดนี้ คือ glycolic acid มาจากน้ำอ้อย lactic acid มาจากนมเปรี้ยว citric acid มาจากมะนาว สับประรด pyruvic acid มาจากมะละกอ malic acid มาจากแอปเปิ้ล tartaric acid มาจากเหล้าองุ่น สารสำคัญในกลุ่ม AHAs ที่พบในเครื่องสำอาง บนฉลากอาจระบุว่าประกอบด้วย
glycolic acid
lactic acid
malic acid
citric acid
glycolic acid + ammonium glycolate
alpha-hydroxyethanoic acid + ammonium alpha-hydroxyethanoate
alpha-hydroxyoctanoic acid
alpha-hydroxycaprylic acid
hydroxycaprylic acid
mixed fruit acid
tri-alpha hydroxy fruit acids
triple fruit acid, sugar cane extract
alpha hydroxy and botanical complex
L-alpha hydroxy acid
glycomer in crosslinked fatty acids alpha nutrium (three AHAs)
สารในกลุ่ม AHAs ที่นิยมใช้ในเครื่องสำอาง คือ glycolic acid และ lactic acid
BHAs ที่มีการกล่าวถึง คือ Salicylic acid ซึ่งใช้ในทางการแพทย์มานานแล้ว เป็นยาทาภายนอก ใช้รักษาโรคผิวหนังที่มีลักษณะหนา แข็งกระด้าง เช่น Salicylic acid 6% + Benzoic acid 12% ใช้รักษาเชื้อราที่ผิวหนัง Salicylic acid 10-12%, Salicylic acid 2-4% + Talcum ใช้โรยเท้าที่มีเหงื่ออกมาก ผิดปกติ Salicylic acid ที่ใช้ในเครื่องสำอางนั้นใช้เพื่อเป็นสารระงับเชื้อในผลิตภัณฑ์ ทาผิวบริเวณที่แข็งกระด้าง เช่น ส้นเท้า/ข้อศอก ช่วยลดริ้วรอย จุดด่างดำได้บ้าง ให้ใช้ที่ความเข้มข้นไม่เกิน 2%
การโฆษณาสรรพคุณของเครื่องสำอางที่ผสม AHAs หรือ BHAs ที่ปรากฏทางสื่อต่างๆ เช่น
o ทำให้ผิวเรียบ แลดูละเอียดมากขึ้น
o ทำให้ผิวแลดูสดใสมากขึ้น
o ทำให้ผิวแลดูเต่งตึงมากขึ้น
o ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น
o ช่วยให้สีผิวจางลง
o ลดการอุดตันของรูขุมขน จึงใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับสิว
กลไกการรักษา
AHAs และ BHAs เป็นสารที่มีคุณสมบัติเป็นกรด จะช่วยให้ผิวหนังชั้นนอกหลุดลอกออกไปได้เร็วขึ้น มองเห็นผิวที่อยู่ชั้นถัดไปที่ยังอยู่ในสภาพดี จึงแลดูผิวดีขึ้น AHAs เมื่อถูกทาลงบนผิวหนังจะถูกดูดซึมไปยังผิวหนังชั้นในสุด และไปทำลายแรงยึดเกาะระหว่างเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วในชั้น horny layer ทำให้เซลล์เหล่านี้ลอกหลุดง่ายขึ้น ซึ่งผลให้เซลล์ชั้นล่างลงไปขึ้นมาแทนที่ ทำให้ผิวหน้าเรียบเนียน สดใสกว่าเดิม เนื่องจากเซลล์ในชั้น hormy layer ที่เกาะติดกันแน่นและไม่หลุดลอกออกจะไปอุดตันรูขุมขน เป็นสาเหตุของการเกิดสิว AHAs จึงช่วยให้เกิดสิวลดลง
ความเป็นพิษ
USFDA แจ้งว่าจากการศึกษา การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี AHAs เป็นองค์ประกอบอาจทำให้ผู้ใช้มีความไวต่อแสงแดดมากขึ้น โดยเฉพาะกับรังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งอาจทำลายผิวหนัง และการใช้ยาขนาดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ระยะยาว อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ซึ่งทั้ง USFDA และ EU อยู่ในระหว่างติดตามความปลอดภัยของสารนี้ แต่ยังมิได้มีการประกาศใช้บังคับในเรื่องปริมาณ หรือความเข้มข้นของสารแต่อย่างใด
USFDA ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการใช้ AHAs ในเครื่องสำอางอย่างปลอดภัยนั้น ความเข้มข้นของ AHAs ต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซนต์ และสูตรตำรับมีพีเอชมากกว่า หรือเท่ากับ 3.5 ส่วนผลิตภัณฑ์ในร้านเสริมสวยสำหรับการลอกหน้านั้น ความเข้มข้นของ AHAs ต้องไม่เกิน 30 เปอร์เซนต์ และสูตรตำรับมีพีเอชมากกว่า หรือเท่ากับ 3.0 ซึ่งต้องใช้โดยผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมมาแล้ว
อาการพิษ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ติดตามข้อมูลความปลอดภัยของการใช้สารกลุ่มนี้ในเครื่องสำอาง เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น และพบว่า USFDA ได้รับรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ AHAs 100 ราย มีอาการตั้งแต่ระคายเคืองเล็กน้อย แสบผิว ผิวหนังร้อนแดง เป็นตุ่มพอง และผิวไหม้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาติดตามอาการไม่พึงประสงค์ หรือ ที่เรียกอีกอย่างว่า อาการแพ้จากการใช้เครื่องสำอาง โดยส่งแบบรายงานการแพ้ให้แพทย์ที่พบผู้ป่วยที่มารับการรักษา เนื่องจากแพ้เครื่องสำอางแล้วรายงานมายัง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าอาการแพ้ที่เกิดจากเครื่องสำอางผสม AHAs และ BHAs คือ ระคายผิว แสบผิว มีเม็ดผื่นคัน ผิวหนังร้อนแดง และเกรียม รายงานการแพ้ที่ได้รับเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากผู้ที่มีอาการแพ้บางราย อาจมิได้ไปพบแพทย์ หรือมิได้แจ้งให้แพทย์ทราบ หรือ แพทย์มิได้บันทึกลงในรายงาน
ข้อควรระวัง
เครื่องสำอางทุกชนิดต้องมีฉลากภาษาไทยที่แสดงข้อความบังคับอย่างครบถ้วน (ชื่อ ชนิด ส่วน ประกอบสำคัญ ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต และปริมาณสุทธิ) การใช้เครื่องสำอางใดเป็นครั้งแรก ควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ โดยทาผลิตภัณฑ์ในปริมาณ เล็กน้อย ลงบนบริเวณท้องแขน ทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง ถ้าไม่มีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้น แสดงว่าใช้ได้
เนื่องจากประเทศไทยอากาศร้อน แสงแดดจัดจ้า ตามปกติควรหลีกเลี่ยงแสงแดดอยู่แล้ว และ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้เครื่องสำอางผสม AHAs และ BHAs ต้องหลีกเลี่ยง หรือ ป้องกันผิวจากแสงแดดเป็นพิเศษโดยการ
- ไม่ออกไปอยู่กลางแจ้งขณะแดดจัด
- สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวมิดชิด หรือกางร่ม เมื่ออยู่กลางแจ้ง
- ใช้เครื่องสำอางผสมสารป้องกันแสงแดด ที่ระบุค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป
หากใช้แล้วเกิดอาการระคายเคืองแสบผิว หรือผิวหนังร้อนแดงเป็นระยะเวลานาน ให้หยุดใช้และปรึกษาแพทย์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ในเด็กและเด็กทารกด้วย
บรรณานุกรม
1.
http://www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/cosmetic/cosmetic/dat/article/aha-bha.htm
2. http://www.cfsan.fda.gov/~dms/cos-aha.html
3. http://sasuk12.com/trang/Med/fdanew/AHA1.htm
2. http://www.cfsan.fda.gov/~dms/cos-aha.html
3. http://sasuk12.com/trang/Med/fdanew/AHA1.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น